ที่เที่ยวจังหวัดลำพูน

ท่องเที่ยวภาคเหนือเรื่องฮิต No comments

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนคร หริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525

วัดจามเทวี

หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ” นอกจากนั้นยังมี รัตนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฎฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตู ก่อนเข้าไปในบริเวณวัด จะผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงพระราชให้เป็นสังฆาราม วิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว จะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง” เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2458 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วและยังมีพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์ พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำ เจดีย์ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาในปี พ.ศ.1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกา ปทุมวดีเจดีย์ หรือพระสุวรรณเจดีย์ ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังจากสร้างพระบรมธาตุเสร็จได้ 4 ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือแบบขอมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเครื่อง


Leave a reply

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

eXTReMe Tracker